การเลี้ยงดูเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำ ด้านสุขภาพจิต ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 โดยได้กำหนดให้มีมาตรฐานการเลี้ยงดูเด็กขั้นต่ำและเกณฑ์ชี้วัดปัจจัยเสี่ยงสำหรับเครือข่ายการคุ้มครองเด็กใช้
ในการเข้าถึงตัวเด็กและสามารถคัดกรองจัดกลุ่มเด็ก รวมทั้งการส่งต่อความรับผิดชอบ
ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลจากกฎกระทรวงที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับ
มาตรฐานขั้นต่ำในการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนและพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแล
ตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มีประเด็นดังต่อไปนี้

1. ด้านกฎหมาย เด็กต้องเกิดในราชอาณาจักรต้องมีการจดทะเบียนการเกิด ต้องมี
ผู้ปกครองตามกฎหมาย ต้องได้เรียนหนังสือตามการศึกษาภาคบังคับ ต้องได้รับสิทธิบริการ
ทางด้านสาธารณสุขและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

2. สภาพแวดล้อมทางสังคมและการให้บริการสาธารณะ ผู้ปกครองติดต่อสื่อสารกับชุมชนและสังคมภายนอก เพื่อขอความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาในการอุปการะเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตน

3. สภาวะการเลี้ยงดูเด็ก เด็กต้องได้รับการปฏิบัติทั้งในด้านสุขภาพกาย ด้านสุขภาพจิต
ที่มีความเหมาะสม

4. ด้านศักยภาพและการปฏิบัติของผู้ดูแลเด็ก โดยให้การดูแลพื้นฐานด้านสุขภาพ ให้การดูแลด้านสุขภาพและป้องกันโรคในด้านต่าง ๆ กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้และการฝึกวินัยในด้านต่าง ๆ ให้การตอบสนองทางอารมณ์แก่เด็กในด้านต่าง ๆ สร้างความมั่นคงในความสัมพันธ์และความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว พัฒนาขอบเขตระหว่างตนเองและผู้อื่นของเด็ก และสอนเรื่อง
ความปลอดภัยของเด็ก

การเลี้ยงดูเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำได้จัดกลุ่มเด็กเป็น 6 ช่วงอายุให้สอดคล้องกับวัย
พัฒนาการดังนี้ อายุ 0-3, 3-6, 6-9, 9-12, 12-15 และ15-18 ปี โดยมีเนื้อหาครอบคลุม
ทั้งความต้องการตามวัยของเด็ก และการดูแลที่ควรได้รับจากผู้ดูแล ทั้งในด้านสุขภาพกาย
สุขภาพจิต สภาพสังคม สิ่งแวดล้อมและกฎหมาย

เอกสารอ้างอิง

ปริชวัน จันทร์ศิริ. (2565). การเลี้ยงดูเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำ ด้านสุขภาพจิต ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546. สืบค้น 4 กันยายน 2566, จาก https://oscc.consulting/media/76