ครอบครัวผูกพันด้วยสื่อสร้างสรรค์ เพิ่มเวลาอบอุ่นห่างไกลหน้าจอ

สื่อดีจะช่วยให้การเล่นมีคุณค่าและความหมายในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย
สิ่งสำคัญผู้ปกครอง และครู ต้องเลือกใช้สื่อให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกลิ้งกลอง ตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ร่วมกับ
กลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์  ภายใต้ โครงการมหัศจรรย์นิเวศ 3 ดีเพื่อเด็กปฐมวัย  
สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11)  สำนักงานกองทุนสนับสนุน
การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ใช้แนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี) เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัว
ได้ใช้สื่อสร้างสรรค์ ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กได้มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย ด้วยการชวน
ลูกเล่น ทำสื่อและจัดพื้นที่ ในครอบครัวสำหรับเด็ก

นางสาวอารีย์ ดำมีศรี ครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ และ นางสาวสุคนธา เรืองศรี ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกลิ้งกลอง ตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง คุณครูทั้งสองได้นำแนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) ขยายไปสู่ครอบครัวของเด็ก จำนวน 29 ครอบครัว โดยการสร้างความเข้าใจ
ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ปกครองของเด็กสามารถสร้างสื่อจากวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่าย
ในบ้าน เช่น แผงไข่ ฝาขวดน้ำ ขวดน้ำดื่ม แกนกระดาษทิชชู่ หรือแก้วกระดาษ สามารถนำมา
ทำของเล่นให้กับลูกเองแบบง่าย ๆ  และได้เรียนรู้เทคนิควิธีการใช้สื่อในการเล่นกับลูก โดยใช้
เวลาเรียนรู้การผลิตสื่อเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น เพื่อดึงเด็กออกจากการใช้เวลากับโทรศัพท์มือ
คือสื่อที่ผู้ปกครองทำจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ พัฒนาการ
ทางภาษาและการสื่อสาร พัฒนากระบวนการคิดให้กับลูก  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเด็ก
อย่างมีเป้าหมายจึงเกิดเป็นครอบครัว 3 ดี ที่มีการทำข้อตกลงที่เป็นกติการ่วมกัน 4 ข้อ ดังนี้

  1. เล่นโทรศัพท์ไม่เกิน 30 นาทีต่อวัน
  2. ลด ละ เลิก การรับประทานขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลม
  3. เด็กต้องเข้านอนไม่เกิน 2 ทุ่ม
  4. เด็กต้องมีสัมมาคารวะกับผู้ใหญ่ ไปมา – ลาไหว้

การที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง เข้าใจวิธีการผลิตสื่อหรือรู้จักเลือกใช้สื่อในการเล่นกับลูกจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา 
โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านภาษาเป็นสิ่งสำคัญกับเด็กปฐมวัย หากเด็กช่วงวัยนี้สามารถใช้ภาษาเพื่อสื่อสารบอกถึงสิ่งที่ตนเองต้องการกับผู้อื่นได้ จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาทางสติปัญญาและการพัฒนาทางสังคม พ่อแม่หรือผู้ดูแลที่อยู่ใกล้ชิดเด็กควรให้ความสำคัญในการใช้เวลากับเด็ก ผ่านการใช้เวลาร่วมกัน เล่นกับลูก อ่านหนังสือ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นสมองให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาความจำ กระตุ้นให้เกิดจินตนาการความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ส่งเสริมสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ได้พูดคุย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทางความคิด ความรู้สึก และการปฏิบัติต่อกัน

                    ดร.สรวงธร นาวาผล  ผู้อำนวยการกลุ่ม wearehappy กล่าวเพิ่มเติมว่า “ครอบครัวถือเป็นนิเวศ
แห่งการเรียนรู้ของเด็กที่สำคัญ ด้วยว่า เด็กเรียนรู้ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล และสิ่งแวดล้อมรอบตัว การจัดให้มีนิเวศสื่อสุขภาวะที่ส่งเสริมประสบการณ์แบบสามดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี)  
ในครอบครัว พร้อมไปกับการมีสุขภาวะที่ดี 4 ด้าน (กาย จิต สังคม ปัญญา) เป็นการนำแนวคิด
การสร้าง “พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก (Create Space for Children)” มาใช้เพื่อจัดสภาพแวดล้อมหรือภูมิทัศน์ภายในและภายนอกบ้าน ให้มีบรรยากาศที่สร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ โดยพื้นที่หรือมุมต่างๆ เหล่านั้น จะเอื้อให้เด็กเรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์ การสัมผัส การสังเกต กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเอง เป็นพื้นที่ที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยการเรียนรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก”

แนวความคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) นั้นเป็นการร่วมกันปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวเด็ก เอื้อต่อการ ส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีกิจกรรมทางกาย เกิดปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยมีผู้ใหญ่ช่วยกันระมัดระวัง ช่วยดูแล สนับสนุน ความปลอดภัยให้กับเด็ก เล่น เรียนรู้กับ สื่อ กิจกรรม พื้นที่ สร้างสรรค์ เหล่านี้เป็นสภาพแวดล้อมสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ

เอกสารอ้างอิง

Phongsulee Jeerawattanarak. (2566). ครอบครัวผูกพันด้วยสื่อสร้างสรรค์ เพิ่มเวลาอบอุ่นห่างไกลหน้าจอ. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2566 จาก https://www.thaihealth.or.th/?p=349728