ลูกเราเป็นเด็กเลี้ยงยากหรือไม่ และจะมีวิธีรับมืออย่างไร ?

การพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นองค์รวมทั้งพื้นฐานทางอารมณ์และพฤติกรรมนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็ก เมื่อเด็กเจริญเติบโตมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยให้เด็กเกิดการพัฒนาทางอารมณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ มีการพัฒนาเป็นพื้นฐานของบุคลิกภาพ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิด พฤติกรรม การกระทำ และยังมีผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกด้วย มีการศึกษาพบว่า เด็กที่มีพื้นฐานอารมณ์เลี้ยงยาก ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ และจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ส่งผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา สังคม  และพัฒนาการด้านอื่น ๆ ในเวลาต่อมา เช่น สมาธิสั้น ซน ก้าวร้าว โครงการวิจัย “สถานการณ์ปัญหาสภาวะสุขภาพ พัฒนาการ และพื้นฐานอารมณ์ของเด็กปฐมวัย” ได้ทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาพื้นฐานทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัย เพื่อหาสาเหตุของปัญหา ปัจจัยที่มีผลกระทบกับพฤติกรรมของเด็ก รวมถึงแนวทางในการแก้ปัญหา และการปรับพฤติกรรมเด็ก นำมาสู่การพัฒนาเป็น “คู่มือสำหรับผู้ดูแลครอบครัว และเด็กปฐมวัยเพื่อการสร้างเสริมพื้นฐานอารมณ์เด็กเลี้ยงยากช่วงปฐมวัย (อายุ 1-5 ปี)” เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการ และพื้นฐานทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัย แนวทางการตอบสนอง และการจัดการกับพฤติกรรมของเด็ก รวมถึงการเสริมสร้างพื้นฐานอารมณ์ในเด็กเลี้ยงยากได้อย่างเหมาะสม

ปัญหาเด็กเลี้ยงยากและการตอบสนอง

จากลักษณะเด็กที่มีพื้นฐานอารมณ์เลี้ยงยาก สามารถจัดแบ่งกลุ่มตามปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ดังนี้

ซน  

สามารถอธิบายลักษณะได้ ดังนี้ ซน วิ่ง ปีนป่าย เด็กทำกิจกรรมเคลื่อนไหวตลอดเวลา หรือบางทีดูวุ่นวายตลอดเวลา อยู่นิ่งได้ไม่นาน อยู่เฉย ๆ ไม่เป็น และอาจทำให้ของเสียหาย และเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อย ๆ เมื่อพาออกไปนอกบ้าน หรือในบางกรณีอาจจะชอบรื้อของใช้ภายในบ้านออกมาเล่น และการเล่นก็ทำให้ของเสียหายบ่อย ๆ ธรรมชาติของเด็กปฐมวัยมีพลังของการเรียนรู้ สนใจกระตือรือร้น สมาธิหรือความสนใจในแต่ละเรื่องในระยะเวลาไม่นาน พ่อแม่ต้องยอมรับด้วยว่าภารกิจหลักของเด็กคือ การเล่น ด้วยพลังหรือแรงขับเคลื่อนของความต้องการที่อยากรู้อยากเห็น ทำให้เด็กหยุดได้ไม่นาน แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจของการเลี้ยงดูที่จะมีผลทำให้เด็กไม่นิ่ง พบว่าถ้ามีการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมมากเกินไป เช่น การกระตุ้นจากภาพ และเสียงจากโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ รวมถึงการเลี้ยงดู เด็กที่เร่งรีบ และทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น รับประทานอาหารพร้อมกับแต่งตัวไปด้วย สิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดูดังกล่าวก็มีผลทำให้เด็กไม่นิ่ง สนใจทำกิจกรรมได้ไม่นาน เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน

แนวทางการตอบสนอง พ่อแม่ ผู้ปกรอง ควรจัดกิจกรรมเล่นกับเด็ก ทั้งในด้านการออกกำลังกาย อย่างการวิ่ง กระโดด ปั่นจักรยาน รวมถึงการเล่นเกมที่ต้องมีกติกาที่ชัดเจน เพื่อช่วยฝึกการควบคุมตัวเอง หรือหากิจกรรมฝึกสมาธิ เช่น การหยอดลูกปัดใส่ในขวดปากแคบ การเขียนตามเส้นประ ต่อจิกซอร์ หรือกิจกรรมฝึกทักษะ เช่น การเล่าเรื่อง อาจจะเป็นเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน นิทาน มีการถามตอบ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกระบวนการคิด วิเคราะห์แก้ปัญหาได้ โดยควรจะเริ่มจากกิจกรรมที่ง่าย ๆ สนุกสนาน พ่อแม่ควรสังเกตการตอบสนองของเด็ก ให้คำชมหรือหาของที่เด็กชอบมาเป็นแรงจูงใจ การเล่นที่ดีในเด็กปฐมวัยไม่ควรเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพราะจะทำให้เด็กสนใจสิ่งแวดล้อมและมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างน้อยลง พ่อแม่ ผู้ปกครอง จะต้องปรับรูปแบบการเลี้ยงดูให้มีจังหวะที่ช้าลง ลดความรีบเร่งในชีวิตประจำวัน ฝึกให้เด็กทำกิจกรรมให้เสร็จทีละอย่าง รวมทั้งสอนให้รู้จักการรอเวลาและจังหวะ

ดื้อ ไม่เชื่อฟัง

การแสดงออกของลูกจะสัมพันธ์กับพัฒนาการของลูก โดยพบว่าเด็กในช่วงวัย 3-5 ปี จะเป็นวัยที่มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น พัฒนาการทั้งทางร่างกาย และทางภาษาก็ก้าวหน้าไปมาก เด็กมักอยากรู้อยากเห็น อยากทดลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างเพื่อทดสอบพลังของตน และสังเกตว่าผลจะออกมาอย่างไร ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ทราบถึงความควรไม่ควรในบทบาทของเขา พฤติกรรมของเด็กจะมีความรุนแรงมากน้อยขึ้นกับพื้นฐานอารมณ์ของเด็ก เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์แตกต่างกัน ซึ่งเป็นปัจจัยทางชีวภาพที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และพื้นฐานอารมณ์นี้จะติดตัวคนเราตลอดชีวิตโดยอาจจะเปลี่ยนแปลงได้บ้างตามการเลี้ยงดู ซึ่งในเรื่องการเลี้ยงดูนั้นพบว่าเด็กที่ถูกตามใจมากตั้งแต่เล็ก มักจะมีปฏิกิริยารุนแรงกว่าเด็กที่ถูกฝึกวินัย พ่อแม่คนไทยส่วนใหญ่มีรูปแบบการเลี้ยงลูกแบบผสม คือ ตามใจ ยอม และเมื่อทนไม่ไหวถึง

แนวทางการตอบสนอง เมื่อเด็กดื้อ ไม่เชื่อฟัง พ่อแม่/ผู้ปกครองต้องจริงจัง มีความเด็ดขาดในการตักเตือน ที่ไม่ใช่การตีเด็ก แต่เป็นการทำให้เด็กเรียนรู้และเห็นความสำคัญของการเชื่อฟังคำสั่ง ในการเลี้ยงดูเด็ก ต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกของเด็ก เน้นการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก ใช้เหตุผลในการตัดสินใจว่าสิ่งใดควรทำไม่ควรทำ เป็นตัวแบบที่ดีให้กับเด็กใช้กฎหรือการบังคับต่าง ๆ การเลี้ยงดูแบบนี้จะทำให้เด็กเกิดความไม่แน่ใจว่าสิ่งไหนทำได้หรือทำไม่ได้กันแน่ เด็กรู้สึกคับข้องใจเพราะไม่ได้ดังใจเหมือนที่เคยได้มาจนเคยชิน เพราะกฎกติกาในบ้านเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อคำพูดของพ่อแม่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ แทนที่เด็กจะเชื่อฟัง ก็กลับดื้อและไม่เชื่อฟัง

หงุดหงิด เอาแต่ใจตัวเอง

พ่อแม่/ผู้ปกครองเป็นต้นแบบที่สำคัญของเด็ก บ่อยครั้งที่เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบจากบุคคลใกล้ชิด สภาวะแวดล้อม เสียง ภาพ ล้วนมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ และการเลียนแบบพฤติกรรม ดังนั้นพ่อแม่/ผู้ปกครองต้องสังเกตพฤติกรรมเด็ก เด็กแต่ละคนร้องไห้ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น ร้องเมื่อไม่พอใจ เมื่อถูกขัดใจ ต้องการเรียกร้องความสนใจ หรือร้องเล่น ๆ ดังนั้นจึงควรหาสาเหตุให้ได้ก่อน เพื่อจะได้แก้ปัญหาอย่างถูกต้อง อีกทั้งควรมีความชัดเจน จริงจัง ในการฝึกวินัยให้กับเด็ก

แนวทางการตอบสนอง พ่อแม่/ผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่าง  มีการควบคุมสติ และอารมณ์เป็นอย่างดี ควรให้คำชมเชยเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี ช่วยเด็กในการเข้าใจอารมณ์ และความต้องการของตนเอง โดยพูดคุยกับเด็กด้วยคำที่เข้าใจได้ง่าย มีความสม่ำเสมอในการฝึกวินัย

ปัญหาการกิน กินยาก เลือกกิน

การกินอาหารเป็นเรื่องยุ่งยาก เด็กมักปฏิเสธอาหาร กินไม่ตรงเวลา ซึ่งอาจส่งผลต่อการรับสารอาหารไม่เพียงพอ เช่น เด็กไม่ยอมกินผัก หรือกินอาหารน้อยมาก ๆ ทำให้พ่อแม่/ผู้ปกครองกังวล และพยายามหาอาหารเสริมสำหรับเด็กหาของกินอย่างอื่นทดแทน เช่น ขนม

แนวทางการตอบสนอง การสร้างทัศนคติ และความรู้สึกดี ๆ เกี่ยวกับการกิน ปล่อยให้เด็กได้มีโอกาสช่วยเหลือตัวเองในการกินถึงแม้จะหก เลอะบ้าง ต่อมาเด็กก็จะทำได้ดีมากขึ้น ผู้ปกครองควรจัดที่นั่งรับประทานอาหารให้เหมาะสม ไม่มีสิ่งของอื่นมาเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น โทรทัศน์ หรือของเล่น ให้คำชมเชยเมื่อเด็กทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ การตักอาหาร ควรตักให้ทีละน้อย ให้ลูกมีกำลังใจว่าเขาจะทานอาหารได้หมด ระหว่างทานอาหารควรให้มีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย พูดคุยกัน ไม่กดดันเด็กด้วยคำพูด เช่น กินเร็ว ๆ สิลูก อย่าทำหกนะ และควรส่งเสริมให้เด็กได้ลองกินอาหารที่หลากหลาย การบังคับให้เด็กกินจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกต่อต้าน ควรฝึกวินัยการทานอาหารให้กับเด็ก ควรให้ความสำคัญกับกฎ กติกาบนโต๊ะอาหาร ทานอาหารให้เป็นเวลา กำหนดเวลาอาหารแต่ละมื้ออย่างชัดเจน ถ้าถึงเวลาแล้วเด็กไม่ยอมกิน ก็เก็บโต๊ะอาหาร จากนั้นมื้อถัดไปพอเด็กหิวก็จะกินอาหารได้เองโดยพ่อแม่/ผู้ปกครองไม่ต้องเคี่ยวเข็ญ ฝึกให้เด็กกินผัก เล่านิทานเกี่ยวกับประโยชน์ของผัก เริ่มให้เด็กกินผักที่ไม่มีกลิ่นฉุน ไม่ขม ไม่แข็ง ปรุงอาหารโดยหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ สร้างสรรค์เมนูที่หลากหลายและครบห้าหมู่

ปัญหาการนอน

ก่อนอื่นพ่อแม่/ผู้ปกครองต้องหาสาเหตุของพฤติกรรมการไม่ยอมนอนก่อนว่ามาจากอะไร เช่น การมีกิจกรรม การเล่นก่อนนอน การนอนตื่นสาย เด็กรอพ่อแม่/ผู้ปกครองกลับบ้านจึงนอนดึก เด็กไม่ง่วงนอนเพราะนอนกลางวันมากเกินไป

เทคนิคการช่วยให้เด็กหลับง่าย

1) ความสุขสบายของร่างกายก็มีผลต่อการผ่อนคลาย ควรให้เด็กอิ่ม อาบน้ำ ก่อนเข้านอน 

2) การเล่านิทาน หรือเปิดเสียงเพลงเบา ๆ กล่อมให้เด็กฟังก่อนนอนจนเด็กเคลิ้มหลับ ต้องระวังไม่ให้นิทาน หรือเสียงเพลงกระตุ้นให้เด็กสนุกสนานจนเกินไป 

3) กรณีที่พ่อแม่/ผู้ปกครองกลับดึก เด็กไม่ยอมนอนเพราะรอพ่อหรือแม่กลับบ้าน การโทรศัพท์มาคุยกับเด็กเพื่อให้เด็กได้รับรู้และเข้าใจว่าพ่อแม่/ผู้ปกครองก็จะกลับมา เด็กไม่ต้องกลัวหรือกังวล หรือการหาของแทนตัวพ่อแม่/ผู้ปกครองมาไว้ใกล้ ๆ เด็ก เมื่อยามเด็กเข้านอนจะช่วยให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจและผ่อนคลายเมื่อเข้านอนได้

4) ไม่ควรให้เด็กดื่มน้ำชา ชาเขียว น้ำอัดลม ช็อคโกแลต เพราะมีคาเฟอีน รวมทั้งอาหารที่มีน้ำตาล ให้พลังงานมาก จะทำให้เด็กนอนหลับยาก 

5) ในช่วงกลางวันควรให้เด็กมีกิจกรรมกีฬาให้เด็กได้ใช้พลัง  แต่ทั้งนี้ไม่ควรให้เด็กเล่นหรือทำกิจกรรมก่อนนอนจนเหนื่อยเพราะอาจทำให้เด็กนอนหลับยากมากยิ่งขึ้น 

6) เด็กบางคนเริ่มฝัน และอาจตกใจตื่น ร้องไห้ พ่อแม่/ผู้ปกครองควรกอด และปลอบเด็ก เพื่อให้เด็กสงบและนอนต่อได้ ไม่ควรแก้ปัญหาการนอนหลับยาก โดยการยอมให้เด็กดูดนมขวดก่อนนอน หรือให้เด็กดูโทรทัศน์ก่อนนอน เพราะจะเกิดผลเสียต่อเด็ก

กล่าวโดยสรุป รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดที่สามารถหล่อหลอมให้เด็กเป็นผู้ที่มีความสามารถในการปรับตัว มีพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสม มีความสามารถในการกำกับตนเอง มีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีคือ รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ เนื่องจากการอบรมเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ พ่อแม่จะแสดงความรัก ความเอาใจใส่และให้ความอบอุ่นต่อเด็ก สนใจ พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น และสนับสนุนให้เด็กมีส่วนร่วมในการคิดตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของครอบครัว ให้ความเสมอภาค อนุญาตให้มีอิสระตามวุฒิภาวะของเด็ก แต่ก็จะกำหนดขอบเขตพฤติกรรมของเด็ก กำหนดให้เด็กเชื่อฟัง และปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ด้วยความมีเหตุมีผล ยอมรับในสิทธิซึ่งกัน และกัน ให้การชี้แนะอย่างมีเหตุผล อธิบายถึงเหตุผลของการเรียกร้องให้ปฏิบัติตามคำสั่ง รวมไปถึงการลงโทษ พ่อแม่/ผู้ปกครองจะใช้อำนาจ เมื่อจำเป็น และมีเหตุผลในการใช้อำนาจที่นำไปสู่พัฒนาการที่ดีของเด็ก โดยรูปแบบหนึ่งที่สามารถช่วยส่งเสริมให้การอบรมเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือ การเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่/ผู้ปกครอง เด็กจะเลียนแบบการแสดงออกต่าง ๆ ของพ่อแม่/ผู้ปกครอง หรือผู้เลี้ยงดูมากกว่าจะทำตามคำสั่งสอนด้วยวาจา ดังนั้น สิ่งใดที่พ่อแม่/ผู้ปกครองอบรมสั่งสอน พ่อแม่/ผู้ปกครองก็ต้องปฏิบัติให้เด็กเห็นเป็นแบบอย่างเช่นกัน

อ้างอิงและเรียบเรียงข้อมูลจาก : โครงการวิจัย “คู่มือสำหรับผู้ดูแลครอบครัวและเด็กปฐมวัยเพื่อการสร้างเสริมพื้นฐานอารมณ์เด็กเลี้ยงยากช่วงปฐมวัย (อายุ 1-5 ปี)” โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

เอกสารอ้างอิง

นพรดา คำชื่นวงศ์. (2564). ลูกเราเป็นเด็กเลี้ยงยากหรือไม่ และจะมีวิธีรับมืออย่างไร ?. สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://researchcafe.tsri.or.th/development-and-temperament-of-early-childhood-2/