ด้วยกรอบความคิดของการศึกษาที่เอาความรู้เป็นตัวตั้ง และเป็นระบบแพ้คัดออก ทำให้มีเด็กเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่จะสามารถเรียนต่อไปในระดับสูงขึ้นได้ โอกาสทางการเรียนรู้จึงแคบลง ทำให้เด็กอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เก่งด้านวิชาการถูกทิ้งระหว่างทาง ทั้งที่เด็กเหล่านั้นต่างก็มีศักยภาพด้านอื่น ๆ ที่รอการงอกงามอยู่
มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนาซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อการกุศล จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการจัดการศึกษาที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้สำหรับมนุษย์ทุกคน โดยไม่ละทิ้งใครไว้กลางทาง ซึ่งจะมีทั้งครู พ่อแม่ และชุมชนร่วมมือกันในการเกื้อหนุนให้เด็กทุกคน ได้มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ และงอกงามได้ตามศักยภาพตามความถนัด และตามความปรารถนาของตน
ด้วยเหตุนี้ นายภาณุวัฒน์ บุญเย็น และทีม จากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จึงได้พัฒนานวัตกรรม อนุบาลจิตศึกษา เพื่อใช้พัฒนาทักษะ Self EF และพัฒนาการทั้ง 4 ด้านของเด็กปฐมวัย ผ่านการเล่น และการลงมือทำ ที่ไม่มีรูปแบบตายตัว ทำให้เด็กมองเห็นศักยภาพของตนเองและผู้อื่น รวมถึงสามารถควบคุมจิตใจของตนเองในสถานการณ์ที่ยากลำบากต่าง ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น จึงส่งผลให้นวัตกรรมดังกล่าวได้รับคัดเลือกให้เป็นนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ECD Innovation Awards ประจำปี 2023
แนวคิดของนวัตกรรม อนุบาลจิตศึกษา
นายภาณุวัฒน์ บุญเย็น หัวหน้าทีมนวัตกรรม กล่าวว่า อนุบาลจิตศึกษาเป็นการจัดการศึกษาที่เน้นความเป็นมนุษย์ เห็นคุณค่าของเด็กทุกคน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างครู พ่อแม่ และชุมชน ให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ และงอกงามได้ตามศักยภาพของตน โดยจัดกิจกรรมที่พัฒนาทักษะ Self EF และพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ผ่านการเล่น และการลงมือทำ ที่ไม่มีข้อกำหนดหรือรูปแบบที่ตายตัว ทำให้เด็กเห็นศักยภาพของตนเองและผู้อื่น สามารถควบคุมจิตใจในสถานการณ์ที่ยากลำบาก การที่มีความยืดหยุ่นทางด้านจิตใจ และการรักษาความสมดุลทางอารมณ์ได้
จุดเด่นของนวัตกรรมคืออะไร
นวัตกรรมอนุบาลจิตศึกษา จะมุ่งเน้นไปที่ 2 ส่วนที่สำคัญ คือ
1) บริบทซึมซับ คือ สร้างสนามพลังบวก สภาพแวดล้อมปลอดภัย สะอาด สงบ วิถีมั่นคง มีเหตุ สร้างการเรียนรู้ร่วมกันด้วย PLC ครู-ทิศ วิธีคิด ท่าที
2) กิจกรรมเตรียมความพร้อมผ่านวิถีการเรียนรู้ กิจกรรมตามวิถีจิตศึกษา บูรณาการ PBL เช่น งานบ้าน งานสวน งานครัว การสำรวจ และการเล่น
ผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้นวัตกรรม
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก เด็กมีมีศักยภาพอย่างองค์รวม มีพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา รวมถึงมีพัฒนาการด้าน Self EF ที่เพิ่มมากขึ้น
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับครู ครูได้ใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกที่พัฒนา EF สมรรถนะแก่ผู้เรียน และครูได้พัฒนาการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนและผู้ปกครอง ทำให้เกิดเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชนขึ้น มี Community of Practice (CoP) เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ต่าง ๆ ร่วมกัน
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้เรียน เกิดการใช้จิตวิทยาเชิงบวก และ สภาพแวดล้อมเชิงบวก (สนามพลังบวก) ขึ้นในโรงเรียน
จึงอาจกล่าวได้ว่า นวัตกรรมอนุบาลจิตศึกษา ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนปฐมวัยอย่างองค์รวม เชื่อมโลก และสรรพสิ่งผ่านการเล่น และการลงมือทำ การเรียนรู้ร่วมกันโดยที่ไม่มีข้อกำหนดหรือรูปแบบที่ตายตัว ทำให้ผู้เรียนมองเห็นศักยภาพของตนเอง และผู้อื่น เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มีความสามารถที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง สามารถควบคุมจิตใจในสถานการณ์ที่ยากลำบาก มีความยืดหยุ่นทางด้านจิตใจ และการรักษาความสมดุลทางอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม
ที่มา : นวัตกรรมอนุบาลจิตศึกษา โดย โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา อำเภอลําปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์