ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่ตำบลถนนปลอดภัย ร่วมสร้างวัฒนธรรมวินัยจราจร

การสร้างวินัยจราจร ต้องอาศัยการปลูกจิตสำนึกตั้งแต่วัยเด็กเพื่อให้เมล็ดพันธุ์แห่งความปลอดภัยเจริญเติบโตงอกงาม ติดตัวไปจนกลายเป็นอุปนิสัยถาวร ที่ผ่านมาเรามองข้ามเรื่องวินัยจราจร จนกลายเป็นความคุ้นชิน หยั่งรากฝั่งลึกและให้เหตุผลเข้าข้างตนเองเสมอกับคำว่า “ไม่เป็นไร ไปใกล้ ๆ แค่นี้ ไม่เป็นไร” “ย้อนศรแค่นี้ไม่เป็นไร” “หมวกกันน็อกไม่ต้องสวม เข็มขัดไม่ต้องคาดหรอก ไม่เป็นไร” “จอดรถแป๊บเดียวเอง ไม่เป็นไร” และเหตุผลอีกมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า เรามองข้ามความปลอดภัย ไม่ตระหนักถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ความคิดและพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนไม่เว้นแต่ละวัน จากข้อมูลกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ระบุว่าคนไทยตายจากอุบัติเหตุปีละเกือบ 20,000 คน บาดเจ็บ พิการ รวมปีละกว่า 100,000 คน ซึ่งเป็นความสูญเสียมหาศาล แต่คนไทยก็ยังมองข้ามความปลอดภัยในการเดินทาง

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวินัย ปลูกจิตสำนึกที่ดี ให้มีความรู้ มีทักษะการเอาตัวรอดในการเดินทางให้ปลอดภัย เพราะวินัยต้องเริ่มสร้างตั้งแต่วัยเด็ก ถึงแม้จะต้องใช้เวลา แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราต้องช่วยกันสร้าง โครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบสู่ตำบลถนนปลอดภัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ดำเนินงานสร้างวินัยจราจรให้เกิดตำบลขับขี่ปลอดภัย โดยใช้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและชุมชนเป็นฐาน เพื่อร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในชุมชน สังคมซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างวัคชีนป้องกันภัยทางถนน โดยดำเนินการใน 3 ภูมิภาค 9 จังหวัด 16 อปท. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 35 แห่ง

รูปแบบการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน มีกระบวนการเรียนรู้ ร่วมกันจัดการ 3 ด้าน คือ การจัดการจุดเสี่ยง การจัดการพฤติกรรมเสี่ยง การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมตามช่วงวัย โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคุณครู ผู้ปกครอง และคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการ ความปลอดภัยทางถนนท้องถิ่น (ศปถ. อปท.)

ผลลัพธ์ความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือ

1) เกิดพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย มีวินัยจราจรทั้งครู ผู้ปกครอง ชุมชน สวมหมวกนิรภัย 100%

2) เกิดสื่อการสอน สื่อออนไลน์ และแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การสร้างจิตสำนึกฯ 11 หน่วยเรียนรู้ 22 แผน 6 กิจกรรม สำหรับเด็กปฐมวัย

3) เกิดการจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เอื้อกับการเรียนรู้ใน อปท.ทุกแห่ง

4) เกิดเครือข่ายครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ มีครูแม่ข่ายให้คำปรึกษา แนะนำการจัดทำกิจกรรมสร้างวินัยจราจร

5) เกิดความร่วมมือของท้องถิ่น ชุมชน ครู ผู้ปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความปลอดภัยทางถนนในระดับตำบล

ส่งผลให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการฯ ไม่เกิดอุบัติเหตุ (เป็นศูนย์) และมีพฤติกรรมการขับขี่ปลอดภัย

ทางคณะทำงานโครงการฯ ได้รวบรวมเนื้อหาสาระไว้ในหนังสือเล่มนี้ สุดท้ายขอขอบพระคุณคณะทำงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ ทีมงานทั้ง 9 จังหวัด ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ร่วมแรง รวมพลัง ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน สร้างพื้นที่ต้นแบบเป็นแหล่งเรียนรู้ “วินัยจราจร” ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

เจิิมขวััญ ศรีีสวััสดิ์, กชกร ชิิณะวงศ์์, กาญจนา ทองทั่ว และ อรอุมา ชููแสง. (2567). ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สู่ตำบลถนนปลอดภัย ร่วมสร้างวัฒนธรรมวินัยจราจร. สืบค้น 5 มีนาคม 2567, https://drive.google.com/file/d/1evRXnaJq4ncCDDTSNwc99rRB2VudHTE4/view