ความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (school readiness)

ภาพ : รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดแถลง ‘รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ไทยตามช่วงวัย’ โดยหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจในการแถลงครั้งนี้คือ ‘รายงานความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (school readiness)’ โดย รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งรายงานที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘ความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัย’ นี้เป็นการดัดแปลงและปรับปรุงจากเครื่องมือ MELQO (Measuring Early Learning and Quality and Outcomes) ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันของหน่วยงานระดับนานาชาติ เครื่องมือซึ่งถูกยอมรับในองค์กรระหว่างประเทศที่มีการใช้สำรวจประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศทั่วโลก

แผนที่แสดงจังหวัดที่ได้ดำเนินการสำรวจความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยในปี 2561
(สีเขียวอ่อน) และปี 2562 (สีฟ้า) ส่วนจังหวัดที่เป็นสีขาวคือพื้นที่ที่จะสำรวจในอนาคต

จากการดำเนินการสำรวจความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยในปี 2561 รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ได้เสนอข้อมูลใหม่เกี่ยวกับความพร้อมของเด็กปฐมวัยในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

ทักษะของเด็กในด้านต่างๆ ยังต้องการการพัฒนา

จากการวิจัยพบว่าความพร้อมทางคณิตศาสตร์และภาษาอยู่ในระดับยอมรับได้ โดยภาพรวมความพร้อมทางคณิตศาสตร์และความพร้อมทางภาษาของเด็กปฐมวัย พบว่ามีเพียงร้อยละ 4 (360 คน จาก 9,517 คน) ของเด็กที่มีคะแนนคณิตศาสตร์ระดับต่ำมาก ขณะที่ความพร้อมด้านภาษา สัดส่วนนี้มีค่าสูงกว่าเล็กน้อย แต่ก็มีค่าเพียงร้อยละ 6 ดังนั้น หากพิจารณาในภาพรวม เด็กอนุบาล 3 ในประเทศไทย (ข้อมูลจาก 19 จังหวัด) ส่วนใหญ่มีความพร้อมด้านคณิตศาสตร์และภาษาในระดับที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม ในสามจังหวัดชายแดนใต้มีสัดส่วนนี้ในด้านภาษาสูงกว่าอยู่ที่ร้อยละ 10

นอกจากนั้นยังพบว่า เด็กอนุบาล 3 ยังขาดความพร้อมหลายด้านก่อนเข้าเรียนชั้นประถม ซึ่งในการสำรวจความพร้อมจากมิติทักษะด้านการคิดเชิงบริหาร (executive functions) นักวิจัยได้ทดสอบองค์ประกอบหนึ่งของทักษะด้านการคิดเชิงบริหารที่เรียกว่า ทักษะด้านความจำขณะทำงาน (working memory) โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า การจำ และบอกเลขไปข้างหน้าและกลับหลัง (digit span memory) สิ่งที่น่าสนใจคือ ทักษะนี้ไม่ได้สะท้อนความรู้ที่เด็กมี ซึ่งแตกต่างจากทักษะด้านคณิตศาสตร์และภาษา ดังนั้น จึงคาดว่าน่าจะไม่ใช่ผลที่มาจากการท่องจำ หรือความรู้ที่มาจากการสอนแบบท่องจำ แต่น่าจะเป็นผลมาจากการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้ฝึกคิดและทบทวนสิ่งที่ตนได้ดำเนินการไปอย่างสม่ำเสมอ

จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า เด็กอนุบาล 3 ในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (school readiness) ในหลายๆ ด้าน และแต่ละจังหวัดก็มีระดับความรุนแรงของปัญหาที่แตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จากความแตกต่างหรือความเหลื่อมล้ำของสัดส่วนเด็กปฐมวัยที่มีคะแนนด้านการรู้จักในระดับต่ำมาก

ความขัดสนของครอบครัวส่งต่อความพร้อมของเด็กปฐมวัย

นักวิจัยได้นำเสนอผลโดยการเปรียบเทียบค่าสถิติอย่างง่าย ข้อค้นพบที่สำคัญข้อแรกคือ ความยากจนหรือความขัดสนของครอบครัวส่งผลเสียต่อความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัย และจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่ใช้ข้อมูลแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Panel Data) พบว่า เด็กปฐมวัยที่มาจากครอบครัวยากจนมากกว่ามักจะมีความพร้อมฯ ต่ำกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มีฐานะยากจนสัมพัทธ์ (relatively poor) จะมีความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ (mathematics) ต่ำกว่าเด็กที่มีฐานะดีสัมพัทธ์ (relatively wealthy) โดยเฉลี่ยประมาณ 0.23 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนนอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความพร้อมฯ จากทั้ง 6 จังหวัดที่สำรวจในปี 2561 พบว่า ความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟัง (listening comprehension) ด้านการรู้จักตัวเลข (number identification) และด้านการต่อรูปในใจ (mental transformation) ของเด็กที่มาจากครอบครัวที่เคยมีปัญหาอาหารไม่เพียงพอแก่การบริโภค มีค่าต่ำกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่เคยมีปัญหา โดยสัดส่วนของเด็กจากครอบครัวที่เคยมีปัญหาอาหารไม่เพียงพอที่มีคะแนนต่ำมาก มีค่าสูงกว่ากลุ่มเด็กที่ไม่เคยมีปัญหาอย่างชัดเจน หากมองว่า การที่ครอบครัวเคยมีปัญหาอาหารไม่เพียงพอแก่การบริโภคเป็นดัชนีชี้วัดความขัดสนของครอบครัว ก็จะสามารถสรุปได้ว่า ความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยที่มาจากครอบครัวที่ขัดสนจะต่ำกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง

ดัชนีความเปราะบางสัมบูรณ์ สะท้อนช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

รายงานชิ้นนี้ทำการสำรวจในปีการศึกษา 2561 โดยสำรวจข้อมูลแล้วในจังหวัดมหาสารคาม ศรีสะเกษ เชียงใหม่ ระยอง และภูเก็ต ประกอบไปด้วยข้อมูลเด็กชั้นอนุบาล 3 ทั้งหมด 3,402 คน จาก 229 โรงเรียน ข้อมูลครอบครัว 2,900 ครัวเรือน และข้อมูลครู 460 คน ในปีการศึกษา 2562 ดำเนินการสำรวจข้อมูลแล้วทั้งสิ้น 19 จังหวัด โดยมีข้อมูลเด็กชั้นอนุบาล 3 ทั้งหมด 9,526 คน จาก 684 โรงเรียน ข้อมูลครอบครัว 8,332 ครัวเรือน และข้อมูลครู 774 คน

นักวิจัยเสนอว่า ค่าเฉลี่ยของความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ของเด็กอนุบาล 3 อยู่ที่ร้อยละ 72 ส่วนค่าเฉลี่ยของความพร้อมด้านภาษาของเด็กอนุบาล 3 อยู่ที่ร้อยละ 55 ข้อมูลส่วนนี้มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ค่าเฉลี่ยของคะแนนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าต่ำกว่าภูมิภาคอื่นพอสมควร อย่างไรก็ตาม นักวิจัยระบุว่าการพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของคะแนนความพร้อมฯ อาจจะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า แต่ละจังหวัดหรือพื้นที่มีปัญหามากน้อยแตกต่างกันเพียงใด ดังนั้น นักวิจัยจึงเสนอให้ใช้สัดส่วนเด็กปฐมวัยที่มีคะแนนระดับต่ำมาก (คะแนนน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25) ในแต่ละพื้นที่ หรือที่เรียกว่า ดัชนีความเปราะบางสัมบูรณ์ (absolute vulnerability index)

จากข้างต้น สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า ดัชนีความเปราะบางสัมบูรณ์ช่วยบ่งบอกถึงขนาดของปัญหาในแต่ละพื้นที่ได้ดีกว่าระดับคะแนนเฉลี่ย การวัดด้วยรูปแบบนี้จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น และที่สำคัญช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสำคัญกับเด็กที่มีความเปราะบางหรือเด็กหางแถวมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การออกออกแบบนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่มีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป

ดาวน์โหลดบทความ :

ความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (School Readiness) https://so02.tci-thaijo.org/index.php/ECEM/article/view/251534/169428

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :

  1. เปิดงานวิจัย ความยากจนและขัดสน อุปสรรคต่อความพร้อมเด็กปฐมวัย
  2. วีระชาติ กิเลนทอง : “ต่อให้ไม่มีผม ทุกคนคงรู้สึกได้ว่าเด็กกำลังเจอภาวะ Learning Loss บทบาทของผมคือทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่ทุกคนคิดมันถูกต้อง แต่มันฟื้นฟูได้”

เอกสารอ้างอิง

  • ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ. (2563). วีระชาติ กิเลนทอง : “ต่อให้ไม่มีผม ทุกคนคงรู้สึกได้ว่าเด็กกำลังเจอภาวะ Learning Loss บทบาทของผมคือทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่ทุกคนคิดมันถูกต้อง แต่มันฟื้นฟูได้”. สืบค้น 24 ธันวาคม 2565, จาก : https://mutualfinding.co/veerachat-kilanetong-interview/
  • วีระชาติ กิเลนทองลนทอง, รำไพ ไชยพาลี และ ขนิษฐา บุญสนอง. (2563). ความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (School Readiness). วารสารการจัดการศึกษาปฐมวัย. 2(1). 93-120.
  • ThaiPublica. (2563). เปิดงานวิจัย ความยากจนและขัดสน อุปสรรคต่อความพร้อมเด็กปฐมวัย. สืบค้น 24 ธันวาคม 2565, จาก : https://thaipublica.org/2020/07/eef-school-readiness/