ศึกษาการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการของ ‘เด็กปฐมวัย’ ปัจจัยใดส่งผลต่อการดำเนินงาน ค้นหาคำตอบผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการในประเทศไทย

การค้นพบปัญหาพัฒนาการผิดปกติของเด็กปฐมวัยตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เพื่อที่จะเร่งให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ให้เด็กกลับมามีพัฒนาการใกล้เคียงปกติหรือปกติ ถือเป็นการลงทุน
ที่คุ้มค่าที่สุด และจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้แก่เด็กได้ เนื่องจากเด็กวัยนี้ เป็นช่วงวัยที่ต้องการ
การปลูกฝังเป็นพิเศษ ดังนโยบายของรัฐฯ ที่ได้มีการเร่งให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนา
ที่รอบด้านตามวัยอย่างมีคุณภาพ แต่ในทางกลับกัน จากสภาวการณ์ทั่วโลก ได้บ่งชี้ว่ากลุ่มประเทศ
ที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง พบว่าเด็กที่อยู่ในช่วงก่อนวัยเรียน 1 ใน 3 คน มีความบกพร่อง
ในการรับความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาการจิตสังคม (Socio Emotional Developmental) ซึ่งเป็นการรับรู้เกี่ยวกับตนเองในทางที่ดี จึงจำเป็นต้องส่งเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กในวัยนี้อย่างเหมาะสม
เพื่อเป็นการสร้างรากฐานของคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต

ด้วยปัญหาข้างต้น ประเทศไทย จึงได้มีการดำเนินการระดับชาติตามหลักสากลในการพัฒนา “คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย” (Developmental Surveillance and Promotion Manual : DSPM) เช่นเดียวกับ งานวิจัยเรื่อง “Thailand’s national universal developmental screening programme for young children: action research for improved follow-up”
โดย Dr. Joanna Morrison Institute for Global Health, University College London ร่วมกับ
รศ. พญ.อิสราภา ชื่นสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ได้ศึกษา
การตรวจหาความผิดปกติของพัฒนาการ และเพื่อให้การบริการช่วยเหลือที่เหมาะสมระยะแรกเริ่ม (Early Intervention: EI) พร้อมเสนอการปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพเด็ก ค้นหาคำตอบจาก
งานการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ได้จากการดำเนินการตามโครงการพัฒนาการเฝ้าระวังและส่งเสริม
คัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) ในประเทศไทย

โดยประเด็นดังกล่าวจะมุ่งเน้นการพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้ยั่งยืนของประชากรภายในสังคม โดยเฉพาะเด็ก เชื่อมโยงกับนโยบายแนวทางความพร้อมในการดูแลสุขภาพ การบริการช่วยเหลือ และปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพของเด็ก ผ่านการป้องกันรักษาและให้ความรู้แก่ประชาชน งานวิจัยดังกล่าว จึงมีความสอดคล้องและเป็นองค์ความรู้ที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา
ที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ

การเฝ้าระวังและส่งเสริมคัดกรองพัฒนาการเด็กในประเทศไทย และร่วมค้นหาติดตามผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

จากการประมาณการทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าประมาณร้อยละ 5 ของเด็ก มีภาวะทุพพลภาพระดับปานกลาง (moderate) ถึงระดับรุนแรง (severe) ซึ่ง 1 ในจำนวนนั้นประมาณ 18.75/10,000
มีความผิดปกติในด้านพัฒนาการหลากหลายด้าน (Pervasive Developmental Disorders : PDD) อาทิ การโต้ตอบเข้าใจภาษา การมีความสัมพันธ์กับ คนใกล้ชิดรอบข้าง และการมีความคิดจินตนาการ
ที่เหมาะตามวัย เป็นต้น ซึ่งความผิดปกติทางด้านพัฒนาการ (developmental disorders) และภาวะพัฒนาการช้าในเด็ก (developmental delay) นั้น  ไม่เพียงเป็นเรื่องของพัฒนาการเท่านั้น แต่ได้
ให้ความหมายอย่างกว้างขวางและครอบคลุมไปจนถึง ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา
(intellectual disabilities) หรือ ภาวะปัญญาอ่อน (mental retardation) และความผิดปกติในด้านพัฒนาการหลายด้าน (PDD) รวมจนถึงโรคออทิสติกอีกด้วย

จากการวิจัยของ Dr. Joanna Morrison และ รศ.พญ.อิสราภา ชื่นสุวรรณ จะแสดงให้เห็นว่า การตรวจหาและการเฝ้าระวังความผิดปกติทางด้านพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรก ๆ มีประโยชน์อย่างมาก โดยประเทศไทยนั้น ได้มีการดำเนินการระดับชาติตามหลักสากลในการพัฒนา
“คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย” ที่ช่วยแนะนำแนวทางการตรวจหาความผิดปกติของพัฒนาการ และเพื่อให้การบริการช่วยเหลือตั้งระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI)
พร้อมปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพเด็ก ซึ่งหลายครั้งพบว่าการนำคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) ไปปฏิบัตินั้น ยังพบข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ อาทิ เด็กหลายคน
ไม่ได้เข้าร่วมการคัดกรองตามการนัดหมาย การติดตามผลของเด็กบกพร่อง รวมถึงเด็กหลายคน
ไม่ผ่านการคัดกรองขั้นต้น (initial screening) และขาดการติดตามผลกลับ

การศึกษาเชิงปฏิบัติการ เพื่อค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จริง

งานวิจัยฉบับนี้ของ Dr. Joanna Morrison และ รศ. พญ.อิสราภา ชื่นสุวรรณ ตั้งต้นโจทย์ค้นคว้า โดยใช้กรอบความคิดเชิงทฤษฎี (Theoretical Framework) นำการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
(Action Research) มาช่วยศึกษาเพื่อค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสามารถช่วยให้เข้าใจ
ถึงสถานการณ์ความเป็นจริงของสังคม พร้อมลงไปศึกษาปัญหาผ่านผู้ประสบกับสิ่งเหล่านั้น สะท้อนความรู้และใช้ประสบการณ์การค้นหาแนวทางในการแก้ไข โดยตั้งสมมติฐานอย่างมีความเข้าใจ
เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เริ่มต้นด้วยการนิยามปัญหา จากนั้นเก็บรวบรวมข้อมูล ร่วมทบทวน
และลงมือปฏิบัติ พร้อมสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงให้แก่ผู้คน ซึ่งจะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมอย่างไม่เป็นทางการแก่ผู้กำหนดนโยบายและผู้ดำเนินโครงการ โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอน
ร่วมค้นหาแนวทางพัฒนาการเฝ้าระวังและส่งเสริมคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย

กล่าวโดยสรุป งานวิจัยของ Dr. Joanna Morrison Institute for Global Health, University College London  ร่วมกับ รศ. พญ.อิสราภา ชื่นสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ได้จุดประกายความสนใจให้แก่ประชาชนในการหันมาให้ความสนใจประเด็นด้านพัฒนาการสุขภาพของเด็กเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาช่วยสะท้อนว่าการตรวจพบเด็กที่มีพัฒนาการผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะสามารถช่วยเหลือให้เด็กกลับมามีพัฒนาการใกล้เคียงปกติหรือปกติได้ ซึ่งการมีพัฒนาการตามปกตินั้น มีประโยชน์ต่อสุขภาพในระยะยาว หากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยกันพัฒนาและปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลเด็ก จากผลที่ได้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ ช่วยสะท้อนสถานการณ์ความเป็นจริงของสังคมไทยได้อย่างชัดเจน ด้วยข้อค้นพบอุปสรรค ข้อจำกัด และแนวทางการแก้ไขปัญหาสังเคราะห์มาได้จากผู้ประสบปัญหาจริง เช่นนั้นแล้ว การดำเนินนโยบาย
ต่าง ๆ ของทุกภาคส่วนควรคำนึงถึง ‘เด็ก’ ที่นับว่าเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติมากยิ่งขึ้นในทุกระดับอย่างมีคุณภาพ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและประชากรภายในประเทศ

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ

SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย

  • (เป้าหมายย่อย 3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทาง
    การป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
  • (เป้าหมายย่อย 3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็น
    ที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
  • (เป้าหมายย่อย 3.C) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
  • (เป้าหมายย่อย 3.D) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

    SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ

    เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

    • (เป้าหมายย่อย 4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ ภายในปี 2573
      เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา

    ชื่อผู้วิจัย – สังกัด: Dr. Joanna Morrison Institute for Global Health, University College London ร่วมกับ รศ.พญ.อิสราภา ชื่นสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ

    ดาวน์โหลดงานวิจัย : Thailand’s national universal developmental screening programme  for young children : action research for improved follow-up : https://gh.bmj.com/content/bmjgh/3/1/e000589.full.pdf

    เอกสารอ้างอิง

    Morrison, J., Chunsuwan, I., , et al .  (2018). Thailand’s national universal developmental screening programme for young children: action research for improved follow-up. Growth and Change, BMJ Global Health. 3(1), 1-11.

    Praewpan Sirilurt. (2564). ศึกษาการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการของ ‘เด็กปฐมวัย’ ปัจจัยใดส่งผลต่อการดำเนินงาน ค้นหาคำตอบผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการในประเทศไทย. สืบค้น 8 มกราคม 2565, จาก : https://www.sdgmove.com/2022/11/17/screening-programme-children-dspm/