ฉายภาพรวม ‘โรคฟันผุ’ ในเด็กปฐมวัย ของประเทศไทยอะไรคือกลยุทธ์ใน ‘การจัดการ’ เสริมการป้องกันสุขภาพช่องปากให้ครอบคลุมทุกระดับ

ปัญหาสุขภาพช่องปากเป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่อาจละเลยได้ กระทรวงสาธารณสุขและภาครัฐจำเป็นต้องให้ความดูแลเป็นพิเศษ โดยโรคในช่องปากที่พบมากที่สุด คือ โรคฟันผุ ซึ่งจากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า ปัญหาโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยมีสูงมาก ซึ่งเด็กอายุ 3 ปี มีฟันผุเฉลี่ยร้อยละ 53 แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้มีการกำหนดนโยบายและโครงการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการรักษา แต่ปัญหาฟันผุในเด็กปฐมวัยก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข

ด้วยปัญหาข้างต้น รายงานวิจัยฉบับนี้ จึงมุ่งหมาย เพื่อสนับสนุนการศึกษาโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย (Early Childhood Caries : ECC) และแบ่งปันการจัดการเชิงกลยุทธ์ ซึ่งเป็นการศึกษา
การจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย ในประเทศไทย ผ่านการวิเคราะห์ในภาพรวม งานวิจัยเรื่อง “Strategic Management of Early Childhood Caries in Thailand: A Critical Overview”  โดย ผศ.ดร.ทพญ.ธัญญา สิทธิเสฏฐพงศ์ ผศ.ดร.ทพญ.ปริญดา ทัศณรงค์ และ รศ.ทพ.ประทีป พันธุมวิช คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ แม้มีความคุ้มครองด้านสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) ฟรีมากว่าสองทศวรรษ และมีการดูแลสุขภาพช่องปาก (oral health) ของประชาชน แต่กลับพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงการดูแลสุขภาพช่องปาก

เช่นนั้นแล้ว เพื่อค้นหาว่า กลยุทธ์ใดที่จะช่วยจัดการโรคฟันผุ และมีแนวทางอย่างไรจะช่วยครอบคลุมการป้องกันโรคฟันผุในทุกระดับ ด้วยประเด็นดังกล่าว มีความสอดคล้องและเป็นองค์ความรู้ที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพ
และความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ

การสำรวจสภาวะสุขภาพของ “โรคฟันผุในเด็กปฐมวัย” ของประเทศไทย

โรคฟันผุในเด็กปฐมวัย (ECC) เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า มีความชุกโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยสูงมาก โดยเฉลี่ย
มีฟันผุอยู่ที่ 3 ซี่ ร้อยละ 53 ของเด็กอายุ 3 ปีตามรายงาน ได้มีการระบุว่าโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย
ในประเทศไทย เริ่มพัฒนาจากรอยโรคฟันผุในระยะเริ่มต้น (initial carious lesion) หรือรอย
โรคด่างขาว (white spot lesion) จนถึงเกิดเป็นโพรงฟันผุ ซึ่งพบในเด็กอายุน้อยที่สุด คือ 12 เดือน เนื่องจากเมื่อเกิดโพรงฟันผุในระยะเริ่มแรก หากควบคุมได้ไม่ดี ฟันที่ผุก็จะขยายโพรงที่ใหญ่ขึ้น
และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เกิดหนองฝี (abscess formation) และเกี่ยวกับพยาธิวิทยาช่องปาก (oral pathology) ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม จะเห็นชัดเจนว่าโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและคุณภาพชีวิตของเด็กอีกด้วย ซึ่งมีปัจจัยสำคัญ อาทิ
เรื่องสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำ ของผู้ปกครอง/ผู้ดูแล, มีความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ
ช่องปากที่น้อย, การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ถูกตามผิดหลักอนามัย และนิสัยการกินขวดนมในระยะยาว จนถึงการค้นพบความจริงว่าประชากรในชนบท มองว่าโรคฟันผุในเด็กเป็นเรื่องปกติและถูกละเลย
ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ยังเกิดปัญหาฟันผุเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีเครือข่ายทันตสาธารณสุขและทันตแพทย์อยู่ทั่วทุกจังหวัด

ดังนั้น ปัจจุบันของโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย (ECC) ในประเทศไทย จึงเป็นปัญหาด้านสุขภาพ
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่คนส่วนใหญ่อาจมองข้าม แต่แท้จริงแล้วเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยทันที

ภาพ : การเปรียบเทียบการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศทุก 5 ปี

การสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศทุก 5 ปี เมื่อเทียบกับการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศปี 2560 กับครั้งก่อน ปี 2555 โรคฟันผุในเด็กปฐมวัย (ECC) หรือ ฟันผุ
ในฟันน้ำนมค่อนข้างคงตัว และมีตัวเลขลดลงเพียงเล็กน้อยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (ตามภาพ)
ซึ่งอาจเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศ รวมถึงระบบการรักษาพยาบาล แต่อย่างไรก็ตาม ความชุกของฟันผุโดยรวมของโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยในประเทศไทย ก็ยังคงสูงอย่างไม่อาจยอมรับได้เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล

ปัญหาที่พบจากการการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ปี 2560 สรุปได้ว่า

– เด็กก่อนวัยเรียน ในประเทศไทยมากกว่าครึ่งยังคงเป็นโรคฟันผุ และมีจำนวนน้อยมาก
ที่ได้รับการรักษาทาง  ทันตกรรม ซึ่งตัวเลขดังกล่าวทรงตัวมานานหลายทศวรรษโดยไม่มีการเพิ่มขึ้น

– การสำรวจต่าง ๆ ปี 2558 ระบุว่า มีเพียงร้อยละ 5.8 ของเด็กเล็กที่ได้รับการรักษาทาง
ทันตกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มอายุสัดส่วนที่น้อยที่สุดในเข้าถึงบริการทันตกรรมปีนั้น

จากข้อมูลปัญหาระบบการรักษาพยาบาลของไทยที่เกิดขึ้นนั้น นับเป็นปัญหาที่ขัดขวาง
การเข้าถึงการรักษาทางทันตกรรมสำหรับเด็กกลุ่มอายุน้อย ดังนั้น กลยุทธ์การส่งเสริม การป้องกัน และการจัดการสุขภาพช่องปากของก่อนวัยเรียน ในประเทศไทย จึงควรครอบคลุมทั้งครอบครัวและชุมชน นอกเหนือจากมาตรการของรัฐ

กล่าวโดยสรุป กลยุทธ์การจัดการโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย (ECC) ภาพรวมของประเทศไทย
ได้มีการใช้หลักการประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้ามาดูแล ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยควบคุมโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปสู่การปรับปรุงสุขภาพโดยรวมของเด็กอีกด้วย ซึ่งปัญหาโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย อาจเป็นปัญหาที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องเล็ก จึงทำให้ถูกละเลยและขาดการดูแล
มาตั้งแต่ต้นได้โดยง่าย เมื่อพิจารณาอีกครั้งปัญหาก็ได้ขยายตัวอย่างเป็นวงกว้างแล้ว ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้ ของ ผศ.ดร.ทพญ.ธัญญา สิทธิเสฏฐพงศ์, ผศ.ดร.ทพญ.ปริญดา ทัศณรงค์ และ รศ.ทพ.ประทีป พันธุมวิชา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาช่วยคลี่คลายประเด็นทางนโยบายสาธารณะที่หลายคนอาจมองข้าม เพราะสุขภาพเป็นเรื่องใกล้ตัว ปัญหาสุขภาพช่องปาก (oral health) จึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของ “ฟัน” เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กโดยรวมอีกด้วย

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ

SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย

(เป้าหมายย่อย 3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็น
ที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้

(เป้าหมายย่อย 3.C) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก

(เป้าหมายย่อย 3.D) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศ
กำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

        SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ

        เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

        (เป้าหมายย่อย 4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ ภายในปี 2573 เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา

          ชื่อผู้วิจัย – สังกัด: ผศ.ดร.ทพญ.ธัญญา สิทธิเสฏฐพงศ์ ผศ.ดร.ทพญ.ปริญดา ทัศณรงค์ และ รศ.ทพ.ประทีป พันธุมวิชา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          ดาวน์โหลดงานวิจัย : Frontiers | Strategic Management of Early Childhood Caries in Thailand: A Critical Overview (frontiersin.org)

          เอกสารอ้างอิง

          Sitthisettapong, T., Tasanarong, P., Phantumvanit, P.  (2021). Strategic Management of Early Childhood Caries in Thailand: A Critical Overview, Frontiers in Public Health, 9 (664541). 1-7.

          Praewpan Sirilurt. (2564). ฉายภาพรวม ‘โรคฟันผุ’ ในเด็กปฐมวัย ของประเทศไทย อะไรคือกลยุทธ์ใน ‘การจัดการ’ เสริมการป้องกันสุขภาพช่องปากให้ครอบคลุมทุกระดับ. สืบค้น 8 มกราคม 2565, จาก : https://www.sdgmove.com/2022/11/29/strategic-early-childhood-caries-thailand/