บทบาทของผู้ปกครองกับการพัฒนาทักษะ EF (Executive functions skills) ของเด็กปฐมวัยในสถานการณ์แบบ New Normal

บทคัดย่อ

สถานการณ์แบบ New Normal หมายถึง ความปกติใหม่หรือฐานวิถีชีวิตใหม่เป็นคำที่ใช้เรียกภายหลังที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือที่เรียกว่าโรค COVID -19 ที่ทุกคนในสังคมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอันแตกต่างจากเดิม บทบาทของผู้ปกครองจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณลักษณะของเด็กปฐมวัยในสถานการณ์แบบ New Normal ประกอบด้วยคุณลักษณะทางด้านร่างกายอารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยต้องศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อแสวงหาวิธีการส่งเสริมอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กปฐมวัยสามารถดำรงชีวิตและปรับตัวในสถานการณ์แบบ New Normal ได้อย่างมีความสุข ทักษะ EF ของเด็กปฐมวัยเป็นทักษะที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเด็กปฐมวัย เป็นทักษะที่ต้องอาศัยกระบวนการทำงานของสมองในการคิด และวิเคราะห์เพื่อควบคุมพฤติกรรมและแสดงออกอย่างเหมาะสมในการเรียนรู้การดำรงชีวิตและการปรับตัวในการแก้ปัญหาด้วย เด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่มีการเจริญเติบโตของสมองสูงสุดและเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสของการเจริญเติบโตของทักษะ EF ได้สูงสุด โดยอาศัยองค์ประกอบของทักษะ EF ในเด็กปฐมวัย ได้แก่ความยืดหยุ่นทางสติปัญญา การยับยั้งชั่งใจ การควบคุมอารมณ์ และความจำขณะทำงาน บทบาทของผู้ปกครองในการพัฒนาทักษะ EF ของเด็กปฐมวัยในสถานการณ์ New normal ที่ควรปฏิบัติคือ การจัดเตรียมอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ การให้เด็กได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมให้มีอากาศที่บริสุทธิ์ การจัดบริเวณน้ำดื่มปลอดภัย การให้ความรักและความอบอุ่น ตลอดจนมีการจัดเตรียมกิจกรรมสำหรับเด็กที่บ้านที่เหมาะสมกับพัฒนาการและความต้องการของเด็ก จะช่วยพัฒนาทักษะ EF และเป็นการช่วยเด็กให้มีความพร้อมในการปรับตัวและดำรงชีวิตในสถานการณ์แบบ New Normal ที่เข้มแข็ง การส่งเสริมทักษะ EF ของเด็กปฐมวัยของผู้ปกครองอย่างถูกวิธี ย่อมทำให้การดำรงชีวิตของเด็กปฐมวัยในสถานการณ์แบบ New Normal เป็นไปอย่างปกติและมีความสุข

เอกสารอ้างอิง

  • วไลพร เมฆไตรรัตน์, ปรียาภรณ์ คงแก้ว. (2565). บทบาทของผู้ปกครองกับการพัฒนาทักษะ EF (Executive functions skills) ของเด็กปฐมวัยในสถานการณ์แบบ New Normal. วารสารวิชาการเครือข่ายบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏภาคเหนือ, 12(1), 17-34.