งานวิจัยชี้ “การเล่นกับพ่อ” ส่งเสริมพัฒนาการควบคุมตนเองของเด็กได้ดีขึ้น

ผู้ปกครองแต่ละคนมีความชอบต่างกันเมื่อเล่นกับเด็ก
แต่ส่วนหนึ่งของการเป็นผู้ปกครองคือต้องก้าวออกไปนอกขอบเขตที่คุ้นเคย
เด็กคือคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดหากได้เล่นและมีปฏิสัมพันธ์ในแบบต่าง ๆ กัน

นักวิชาการจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ร่วมกับมูลนิธิเลโก้ รวบรวมหลักฐาน
ที่กระจัดกระจายตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเล่นกับเด็กเล็ก (อายุ 0 ถึง 3 ขวบ) ของพ่อ เพื่อต้องการรู้ว่าการเล่นระหว่างพ่อกับลูกต่างจากวิธีที่ลูกเล่นกับแม่หรือไม่ และมีผลต่อพัฒนาการของเด็กอย่างไร

ผลที่รวบรวมได้มีความคล้ายคลึงกันระหว่างพ่อกับแม่ในเรื่องของการเล่น แต่มีหลายงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าพ่อจะเล่นกับลูกแบบใช้ร่างกายมากกว่าแม่ แม้กับเด็กที่อายุน้อยที่สุด โดยพ่อมักเลือกกิจกรรม เช่น จั๊กจี้ ไล่จับ หรือขี่ม้าส่งเมือง โดยกิจกรรมที่พ่อมักเล่นกับลูก มีแนวโน้มว่าช่วยเด็กให้เรียนรู้การควบคุมอารมณ์ ส่งผลช่วยให้เด็กรู้จักการจัดการพฤติกรรมของตัวเองได้ดีขึ้น ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะที่โรงเรียน

เป็นที่รู้กันว่าการเล่นของเด็กกับผู้ปกครองในช่วงแรกของชีวิตจะช่วยส่งเสริมทักษะทางสังคม การเรียนรู้ และการสื่อสารที่จำเป็น แต่งานวิจัยส่วนใหญ่เน้นไปที่แม่และเด็ก จากการสำรวจข้อมูลจากงานวิจัย 78 ชิ้นระหว่างปี 1977 ถึงปี 2017 โดยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยในยุโรปหรืออเมริกาเหนือ นักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลที่นำมารวมกันเพื่อหารูปแบบว่าพ่อลูกเล่นกันบ่อยเพียงใด เล่นกันแบบไหน และมีความเชื่อมโยงกับพัฒนาการของเด็กอย่างไร

ข้อมูลโดยเฉลี่ย พบว่า พ่อส่วนใหญ่เล่นกับลูกทุกวัน แม้แต่ในกรณีเด็กที่เล็กมาก ๆ แต่การเล่นของพ่อลูกมักจะใช้ร่างกายมากกว่า โดยเฉพาะกับเด็กทารก อาจหมายรวมถึงแค่การอุ้มขึ้น หรือช่วยให้ยกมือยกเท้า และออกแรงอย่างอ่อนโยน ส่วนกับเด็กวัยเตาะแตะ พ่อมักจะเลือกการเล่นที่โลดโผนอย่างเช่น การเล่นไล่จับ

ในเกือบทุกการวิจัยที่สำรวจ จะมีการเกิดขึ้นคู่กันอย่างต่อเนื่องระหว่างการเล่นของพ่อลูก และความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของเด็กที่เกิดขึ้นตามมา เด็กที่สนุกกับการเล่นที่มีคุณภาพกับพ่อ มีแนวโน้มจะแสดงอาการไฮเปอร์แอคทีฟ หรือปัญหาด้านอารมณ์ และพฤติกรรมน้อยกว่า และสามารถควบคุมความก้าวร้าวได้ดีกว่า มีโอกาสทะเลาะกับเด็กอื่นเมื่อเกิดความขัดแย้งที่โรงเรียนได้น้อยกว่า

การวิจัยยังพบหลักฐานอีกว่า การเล่นระหว่างพ่อกับลูกค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตลอดช่วงวัยเด็กตอนต้น จากนั้นจะลดลงในช่วงวัยเด็กตอนกลาง (อายุ 6 ถึง 12 ปี) อาจเป็นเพราะการเล่นโดยใช้ร่างกายช่วยให้เด็กเล็กรับมือกับโจทย์ยากที่ต้องพบเมื่อเริ่มออกไปสำรวจโลกนอกบ้าน โดยเฉพาะที่โรงเรียน แม้การเล่นของพ่อกับลูกจะมีประโยชน์มาก แต่ผู้วิจัยยังย้ำอีกว่าเด็กที่อยู่กับแม่เท่านั้นก็ไม่ได้เสียเปรียบแต่อย่างใด และอีกเรื่องหนึ่งที่คณะวิจัยชี้ให้เห็นว่ามีอยู่ในทุกผลการสำรวจ คือ เราต้องทำให้การเล่นของเด็กมีความหลากหลาย และผู้เป็นแม่ก็สามารถเล่นโดยใช้ร่างกายกับเด็กเล็กได้เช่นเดียวกัน  

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2565). งานวิจัยชี้ “การเล่นกับพ่อ” ส่งเสริมพัฒนาการ
ควบคุมตนเองของเด็กได้ดีขึ้น
. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://happychild.thaihealth.or.th/?p=149054