พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

“พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542” ให้ไว้ ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2542 ประกาศ ณ วันที่ 19 สิงหาคม  2542 มีทั้งหมด 9 หมวด 78 มาตรา 1 บทเฉพาะกาล ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ที่ต้องการเน้นย้ำว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

โดยในมาตรา 10 ได้กล่าวถึงการจัดการศึกษาว่าต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาในขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยที่ไม่เก็บค่าใช้จ่าย ในมาตรา 12 ที่กล่าวไว้ว่านอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว สามารถให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และในมาตรา 18 การจัดการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐานให้จัดในสถานศึกษา ดังต่อไปนี้

  1. สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ของสถาบันศาสนา ศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มของเด็กพิการ และเด็กซึ่งมีความต้องการพิเศษ หรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เรียกชื่ออย่างอื่น
  2. โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนของรัฐ โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนที่สังกัดสถาบันพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่น
  3. ศูนย์การเรียน ได้แก่ สถานที่เรียนที่หน่วยงานจัดการศึกษานอกโรงเรียน บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถานสงเคราะห์ และสถาบันสังคมอื่นเป็นผู้จัด

ต่อมาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นอีกจำนวน 3 ครั้ง คือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545, พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่

เอกสารอ้างอิง

  • กระทรวงศึกษาธิการ. (2563). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542. สืบค้น 12 พฤศจิกายน 2565, จาก : https://shorturl.asia/yUw7B